ประเด็นร้อน

สินบนประมงช่องว่าง คุมเรือเข้า-ออก

โดย ACT โพสเมื่อ Apr 20,2017

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อสำหรับประเทศไทยลูบตรงไหนก็แทบจะเจอทุจริตกันตรงนั้น อย่างมาตรการควบคุมการทำประมงผิดกฎหมายที่ประเทศไทยกำลังตกเป็นเป้าสายตาของตะวันตกที่จะคว่ำบาตร แต่ทำไปทำมากลับกลายเป็นช่องให้เกิดการ "ทำมาหากิน"กันจนได้

ที่สำคัญก็คือการทุจริตที่กำลังเป็นข่าวฉาวโฉ่ขณะนี้จะเป็นตัวสะท้อนภาพลักษณ์การทำงานของ "ฝ่ายตรวจสอบ" การทำประมงผิดกฎหมายด้วย
          
เมื่อฝ่ายตรวจสอบมีปัญหา แน่นอนว่าเครดิตความน่าเชื่อถือที่ ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (สล.ศปมผ.) ซึ่งถูกตั้งขึ้นมา หลังนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช.ประกาศใช้มาตรา 44 จะเรียกคืน ก็อาจจะได้รับผลในทางกลับกัน คือการตั้งคำถามกลับมาถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายของไทย
          
ต้องทำความเข้าใจกันสักนิดหนึ่งว่า มาตรการที่ไทยกำลังเอาจริงเอาจังกับการทำประมงผิดกฎหมายตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนนั้น เป็นผลมาจากแรงกดดันจากทางยุโรปที่เป็นตลาดใหญ่สินค้าทะเลของไทย ภายใต้กฎระเบียบที่เรียกกันย่อๆ ว่า ไอยูยู
          
ซึ่งก็คือ (Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU) หรือกฎระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม  เป็นกฎระเบียบที่คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้ประกาศการบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2551 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553
          
ทั้งนี้ก็เพราะอย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่า การทำประมงโดยเฉพาะแถวๆบ้านเรามักมีปัญหาลักลอบจับสัตว์น้ำผิดกฎหมายในน่านน้ำต่างๆ การออกระเบียบนี้ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนัก เกิดการอนุรักษ์ และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันเป็นการสร้างความเป็นธรรมด้านการค้าสัตว์น้ำระหว่างประเทศไปพร้อมกันด้วย ประเภทมือใครยาวสาวได้สาวเอา เรือใครใหญ่ดักได้ดักเอา ไม่ได้แล้ว !!!
          
นี่จึงเป็นที่มาของหน่วยงานที่ชื่อว่า ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือประมงเข้าออก (PIPO)โดยใช้อุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือประมงด้วยดาวเทียม (VMS) ซึ่งจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าเรือประมงพาณิชย์ที่ออกไปทำประมงในน่านน้ำไทยยังทำประมงถูกกฎหมายที่บังคับใช้อยู่หรือไม่
          
เช่นถ้าสัญญาณขาดหายไปก็หมายความว่าเรือประมงพาณิชย์ลำนั้น อาจออกนอกน่านน้ำ แบบนี้ก็เป็นปัญหา
          
การแจ้งเรือประมงเข้าออกจึงเป็นช่องทางป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่วางมาตรการที่เข้มแข็งพอก็อาจจะทำให้เกิดการทุจริตขึ้น อย่างที่เป็นข่าวว่าเจ้าหน้าที่เรียกรับสินบนจากเรือปลาฉิ้งฉ้าง และเรืออวน (ทั้งๆ ที่มีเครื่องมือตรวจสอบเรือ)
          
ช่องทางการทุจริตเกิดขึ้นได้อย่างไร เราพลิกแฟ้ม "รายงาน คม ชัด ลึก"
วิเคราะห์กันอีกครั้ง เพราะชี้เบาะแส นำไปสู่การตรวจสอบและหาทาง "อุดรูรั่ว" โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกำกับการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศอ.ศปมผ.)
          
ประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือปัญหาของอุปกรณ์ติดตามจะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้อ้างเรียกรับสินบนจากเรือประมงด้วยหรือไม่?
          
เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2559 มีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือประมง สัญญาณขาดหายขณะออกทำประมงกลางทะเล ทำให้เรือถูกแจ้งเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมายบ่อยครั้ง
คำยืนยันจากเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอสขึ้นไปที่ จ.สมุทรปราการ ที่ต้องเข้าออกศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกสมุทรปราการ เพื่อทำหนังสือชี้แจง เพราะได้รับข้อความในโทรศัพท์มือถือว่า"เรือปิดสัญญาณวีเอ็มเอสเสี่ยงสูงกระทำผิดกฎหมายติดต่อกลับและดำเนินการแก้ไขโดยด่วน ศูนย์วีเอ็มเอส กรมประมง" ปรีชา เกษมธีระสมบูรณ์ เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ศรีนพรัตน์ จ.สมุทรปราการ เกิดข้อสงสัยกับเครื่องติดตามตำแหน่งเรือวีเอ็มเอส ตั้งแต่ติดอุปกรณ์ถูกแจ้งเตือนสัญญาณขาดหายบ่อยครั้ง เครื่องวีเอ็มเอสไม่ส่งสัญญาณ ถูกเตือนแม้ในเวลาพักผ่อน โดยมีการซื้ออุปกรณ์นี้มาด้วยราคาประมาณ 2.3 หมื่นบาท ต้องจ่ายเป็นรายเดือนละ 1,200 บาท หรือต่อปี 1.2 หมื่นบาท ซึ่งสัญญาณจะส่งผ่านศูนย์เฝ้าระวังติดตามของกรมประมงทุกๆ 1 ชั่วโมง ว่าเรือประมงอยู่พิกัดไหนของน่านน้ำไทย แต่สิ่งที่สงสัยมาโดยตลอดคือ สัญญาณที่ขาดหายไปเกิดจากสาเหตุใด แต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากเจ้าของบริษัทที่ขายเครื่องอุปกรณ์ติดตามเรือประมงให้ ส่วนตัวมีเจตนาเปิดเครื่องวีเอ็มเอสอยู่แล้ว แต่ถ้าหากปิดก็คงไม่ได้ออกทำประมงแน่นอน อยากให้ตัวแทนจำหน่ายช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเจ้าของเรือแทบทุกลำ
          
"กรณีเครื่องติดตามตำแหน่งเรือวีเอ็มเอสที่ซื้อมาราคาประมาณ 2.3 หมื่นบาท มีค่าใช้จ่ายรายเดือนอีกเดือนละ 1,200 บาท ซึ่งบังคับให้ต้องติดไว้ในเรือเพื่อให้ศูนย์เฝ้าติดตามของกรมประมงสามารถตรวจเช็กได้ตลอดเวลาว่าออกทำประมงกลางทะเลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตอนนี้เจ้าของเรือประมงกำลังเผชิญปัญหาเครื่องวีเอ็มเอสไม่ส่งสัญญาณขณะเรือออกทำประมงกลางทะเล ศูนย์เฝ้าระวังติดตามทั้งส่งข้อความหา โทรมาแจ้งว่าเรือปิดสัญญาณวีเอ็มเอสทำไม ทั้งที่ไม่ทราบเหมือนกันว่าสัญญาณขาดหายเพราะอะไร ซึ่งโดนแจ้งเตือนทุกวัน เพราะเขาระบุว่า เรืออาจเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมาย ต้องทำหนังสือชี้แจงต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก เลยเกิดข้อสงสัยว่า ถ้าเครื่องวีเอ็มเอสไม่ส่งสัญญาณสามารถสอบถามบริษัทที่เป็นตัวแทนขายให้จะได้รับคำตอบที่ดีกว่าถามชาวประมงหรือไม่ ผมได้พูดคุยกับตัวแทนจำหน่ายขายเครื่องวีเอ็มเอสกลับไม่ได้รับคำตอบว่าสาเหตุที่สัญญาณขัดข้องเกิดจากอะไรกันแน่ ซึ่งตอนนี้ชาวประมงหลายคนเดือดร้อนเพราะต้องเข้าชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่แทบทุกวัน" เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ศรีนพรัตน์ กล่าว
          
สอดคล้องกับคำยืนยันจาก โชคชัย หน่อเนื้อ เจ้าของเรือประมงพาณิชย์อีกรายใน จ.สมุทรปราการ ที่ทำประมงมากว่า 10 ปี สืบทอดอาชีพมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ ที่เข้ามาทำหนังสือชี้แจงศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกสมุทรปราการว่า สาเหตุที่สัญญาณเครื่องวีเอ็มเอสขาดหายเป็นเพราะอะไร แต่ก็ยังไม่รู้สาเหตุและยังเกิดข้อสงสัยทุกครั้งที่สัญญาณขาดหายไปโดยไร้สาเหตุ จึงอยากฝากไปถึงตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องวีเอ็มเอส ด้วยว่าควรร่วมกับชาวประมงเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้สามารถออกทำประมงกลางทะเลได้อย่างราบรื่น

"สัญญาณเครื่องวีเอ็มเอสทำเจ้าของเรือประมงอย่างผมวุ่นวายทุกวัน เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นต้องเขียนชี้แจงให้กรมประมงรับทราบถึงพิกัดตำแหน่งของเรือ ช่วงเวลาสัญญาณที่ขาดหาย ซึ่งผมยินยอมทำตามกฎระเบียบทุกอย่างที่ออกมาเพื่อให้มีอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวอย่างไม่ติดขัด แต่เกิดคำถามมากมาย ซึ่งยังไม่มีใครให้คำตอบผมได้ว่าสาเหตุของสัญญาณที่ขาดหายมาจากอะไร ตัวแทนจำหน่ายของบริษัทติดตั้งเครื่องวีเอ็มเอสควรจะชี้แจงให้ชาวประมงได้รับทราบอย่างชัดเจนหรือไม่ ก่อนหน้านี้มีคำยืนยันจากตัวแทนจำหน่ายว่า สัญญาณที่ขาดหายไปเป็นเพราะการอัพเดทซอฟต์แวร์ของระบบหรือการอัพเดทข้อมูลของสัญญาณเครือข่ายดาวเทียมให้ครอบคลุมการใช้งาน หรือบางครั้งทางตัวแทนจำหน่ายก็ให้ข้อมูลว่าอาจเกิดจากกระแสไฟของเรือขัดข้อง ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนจากหน่วยงานไหนที่จะออกมาให้คำ
          
ตอบได้" โชคชัย กล่าว
          
เรือประมงที่มีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส ที่ถูกเฝ้าติดตามการออกทำประมงกลางทะเลในน่านน้ำอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งเรือประมงด้วยดาวเทียม หรือการติดตั้งระบบ Vessel Monitoring System : VMS เป็นระบบที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือที่ออกหาสัตว์ทะเลอยู่กลางทะเลกับเจ้าของเรือ ซึ่งจะมีศูนย์ติดตามเฝ้าระวังของกรมประมงติดตามสัญญาณวีเอ็มเอสอยู่บนฝั่ง เพื่อติดตามตำแหน่ง ความเร็ว ทิศทางการเดินเรือ จากนั้นรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของเรือบันทึกผ่านซอฟต์แวร์แล้วส่งสัญญาณผ่านเครือข่ายดาวเทียมเพื่อบันทึกและแสดงผลข้อมูลของเรือ
          
หน่วยงานภาครัฐยังคงเดินหน้าตรวจเข้มลูกเรือประมงแรงงานต่างชาติ ทั้งการตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย อย่างที่ท่าแพโสภา ต.ปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีการเข้าตรวจเข้มโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการกวาดล้างการค้ามนุษย์ในธุรกิจประมง
"น.ต.เจนยุทธ นิมา"
          
หัวหน้าศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก ปราณบุรี เปิดเผยว่า หากมีเจ้าของเรือประสงค์จะออกทำประมงทะเลต้องตรวจจากเอกสารที่เจ้าของเรือมายื่นยังศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกปราณบุรี จากนั้นลงพื้นที่ตรวจสอบเรือ อุปกรณ์การจับสัตว์ทะเลซึ่งประมงที่ปราณบุรีส่วนใหญ่จะเป็นอวนดำ ไดหมึก เรือลอบ อวนลากเดี่ยว คู่ อุปกรณ์ป้องกันภัย นายช่างประจำเรือและลูกเรือประมงที่เป็นแรงงานต่างชาติ และในช่วงเวลาที่เรือเข้ามาเทียบท่าชาวประมงจะต้องบันทึกข้อมูลระบุชนิดปลา จำนวนน้ำหนักปลาที่หามาได้ เพื่อให้ศูนย์ประเมินว่าสัตว์ทะเลที่ออกประมงมาถูกต้องตามกฎระเบียบที่บังคับใช้
          
ข้อมูลศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกปราณบุรี พบว่าตั้งแต่บังคับใช้กฎหมายมีการแจ้งเข้าออกราว 900 ครั้งต่อเดือน จากเรือประมงพาณิชย์ขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องกว่า 300 ลำ
          
"หน่วยงานทั้ง 7 หน่วยงานที่บูรณาการร่วมกัน เมื่อได้รับแจ้งความประสงค์จะออกเรือจากเจ้าของเรือต้องตรวจเอกสารอย่างละเอียดและลงพื้นที่ตรวจเรือประมง ตรวจใบอนุญาตแรงงานต่างชาติและหาสารเสพติดทุกคนก่อนออกทำประมงทุกครั้ง ตราอวนที่นำไปจับสัตว์ทะเลขนาดถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ไม่มีการควบคุม ไม่มีการตรวจสอบ พบว่ามีแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้ามาทำงานจำนวนมาก แต่ปัจจุบันตั้งแต่มีกฎหมายบังคับใช้สามารถควบคุมได้ในระดับหนึ่ง และยังต้องบันทึกข้อมูลสัตว์ทะเลที่จับมาทุกครั้งไว้ในสมุดบันทึกเพื่อยืนยันกับเจ้าหน้าที่ให้สามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งเจ้าของเรือส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาจะมีเสียงคัดค้าน แต่ทุกคนก็ทำความเข้าใจเพื่อให้มีอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้" น.ต.เจนยุทธ กล่าว
          
สอดคล้องกับข้อมูล ปัญญา วิเชียรแสน นายช่างประจำเรือ ที่ทำงานมาเกือบ 30 ปี คลุกคลีกับแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานเป็นลูกเรือประมง ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้าที่ยังไม่เข้มงวด มีความหละหลวมในการทำตามข้อบังคับการออกทำประมงในน่านน้ำไทยอย่างมาก ไม่มีแม้การรายงานแจ้งเข้าออกเรือ การใช้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย เรือประมงพาณิชย์สามารถออกทำประมงได้แทบจะทั้งเดือน
          
"เมื่อก่อนที่ยังไม่มีการตรวจเข้ม เรือประมงพาณิชย์สามารถออกทำประมงได้โดยไม่ต้องแจ้งศูนย์ควบคุมแจ้งเรือเข้าออก สามารถออกไปทำประมงได้กว่า 28 วัน หยุดทำ 2 วัน ต่างจากตอนนี้ที่ออกได้ 22-23 วัน ลูกเรือประมงแรงงานต่างชาติสามารถมีวันหยุดได้ 8 วัน แต่ตอนนี้ก็ต้องทำตามกฎหมายที่ออกมาบังคับ แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นชาวกัมพูชาและเมียนมาร์ที่หลบหนีเข้ามาตามแนวชายแดนเพื่อมาหางานทำเป็นลูกเรือประมง แต่ตอนนี้หากใครไม่มีใบอนุญาตทำงานก็ถูกผลักส่งกลับประเทศหมดแล้ว แม้กระทั่งการออกทำประมงกลางทะเลก็ยังมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา" นายช่างประจำเรือ กล่าว
มีระบบตรวจสอบเรือเข้าออกแน่นหนาพอสมควร แล้วทุจริตกันได้อย่างไร หรือว่าระบบที่ว่านอกจากจะไม่เวิร์กแล้วยังกลายเป็นช่องทุจริตไปด้วยในตัว

"ประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามก็คือปัญหาของอุปกรณ์ติดตามจะเปนส่วนหนึ่งในการใช้อ้างเรียกรับสินบนจากเรือประมงด้วยหรือไม่?"

- - สำนักข่าว คม ชัด ลึก วันที่ 20 เมษายน 2560 - -
อ่านข่าวเพิ่มเติมที่ : www.komchadluek.net/news/scoop/272443